การจัดการศึกษา
การพัฒนาระบบจัดการศึกษา ( Learning Solution )
กล่าวนำ
การศึกษาของประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ที่ ๕๒ จากจำนวนประเทศทั้งหมด ๕๙ ตามที่สถาบัน IMD (Institute for Management Development) ประกาศผลในปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ถึงแนวโน้มอนาคตของการพัฒนาประเทศว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน พัฒนาชาติ ปรากฏผลออกมาเพียงเท่านี้ ใครคือผู้รับผิดชอบ ใครคือผู้แก้ไข หรือใครคือผู้มีส่วนได้เสีย เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ควรเสียเวลาในการหาคำตอบกล่าวโทษกัน เวลาที่มีค่าของสังคมไทยควรมุ่งไปที่การรู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไร และทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงระดับสูงไม่ใช่เฉพาะระดับกองทัพเท่านั้น แต่เป็นสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงระดับสูงสุดของชาติ เป็นสถาบันหลักในการสร้างคน สร้างความมั่นคง สร้างชาติ จึงจำเป็นต้องปรับปรุง พัฒนา และดำเนินการจัดการศึกษาของวิทยาลัย ให้สามารถผลิตนักศึกษาซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งผู้บริหารจากภาคเอกชน และภาคการเมือง ให้เป็นผู้นำระดับยุทธศาสตร์ มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ตกลงใจ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการนี้วิทยาลัยจึงได้กำหนดให้การพัฒนา “ระบบการจัดการศึกษา (Learning Solution)” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จตามที่กำหนด
ภาพที่ ๑ : ตัวอย่าง บางส่วนของ “งานจัดการศึกษา”
วปอ.ชื่อนี้มีมนต์ขลัง
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๘ปัจจุบันจัดตั้งเป็นส่วนราชการขึ้นตรงสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มีหน้าที่ ประศาสน์วิทยาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องในการป้องกันราชอาณาจักร ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งผู้บริหารจากภาคเอกชน และภาคการเมือง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าตลอดไป หลักสูตรที่ดำเนินการจัดการศึกษาอยู่มี ๓ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง
การจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างจากการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วไป กล่าวคือ เป็นการผสมผสานระหว่างการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปกับการสัมมนาและการถกแถลง เพื่อแสวงหาข้อตกลงใจของนักบริหารระดับสูง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรทำหน้าที่อำนวยการ กำกับดูแลและจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้การประศาสน์วิทยาการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมีสภาวิทยาลัย
ป้องกันราชอาณาจักร (สภา วปอ.) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสภามหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา และควบคุมการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
นับจากปีก่อตั้งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นต้นมา ในทุก ๆ ปีจะมีผู้มีความประสงค์เข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากเกินกว่าจำนวนนักศึกษาที่วิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาได้ แสดงให้ถึงความเชื่อมั่น ศรัทธา ของผู้ประสงค์เข้ารับการศึกษาที่มีต่อวิทยาลัยมาโดยตลอด เปรียบดังต้องมนต์ว่าสักครั้ง
หนึ่งในชีวิต ขอให้ได้เข้ามาเป็นนักศึกษา วปอ. เหมือนกับที่มักกล่าวกันว่า ปีใดที่ท่านเป็นนักศึกษา วปอ.ปีนั้นคือ The best year of your life
วปอ.ชื่อนี้มีมนต์ขลัง จะเข้มข้นยิ่งขึ้นหรือจืดจางลง ขึ้นอยู่กับคณาจารย์และข้าราชการของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หลักการ วิธีการ การจัดการศึกษาระดับสูง สภาพแวดล้อมด้านการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง เพื่อร่วมกันต่อยอดความสำเร็จจากรากฐานที่วางไว้ในอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต
ความท้าทายในการจัดการศึกษายุคใหม่
ตลอดเวลากว่า ๕๘ ปี กล่าวได้ว่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีความเชี่ยวชาญ แข็งแกร่ง หรือความเป็นเลิศทางด้าน “ยุทธศาสตร์ชาติ” เปรียบเสมือนวิชาแกน แล้วรายล้อมไปด้วยวิชารองซึ่งมาจากองค์ประกอบของพลังอำนาจแห่งชาติ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตสำคัญที่เกิดจากการนำความรู้ต่าง ๆ ที่นักศึกษาได้รับไปประยุกต์ใช้ คือ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งจัดให้มีการแถลงต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี
อย่างไรก็ตามความเชี่ยวชาญ แข็งแกร่งในรูปแบบเดิมข้างต้นนั้น ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในยุคโลกาภิวัตน์ที่ความรู้และข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา องค์ความรู้ต่าง ๆ ต้องถูกบูรณาการเข้าด้วยกันทั้งหมดในลักษณะเป็นสหวิทยาการ นักศึกษาต้องมีทั้งความรู้ในเนื้อหา (Knowledge) และมีทักษะ (Skills) ของการเป็นผู้นำระดับยุทธศาสตร์กล่าวคือ มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ตกลงใจ มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการค้นหา รวบรวม เก็บรักษา กระจายความรู้ที่ต้องการ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับเป้าหมายและสถานการณ์ นอกจากนี้ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่การแสวงหาความรู้สามารถกระทำได้ง่ายกว่าในอดีต แต่กลับมีปัญหาสังคมมากมายดังที่ทราบดีแล้ว ดังนั้นความท้าทายในการจัดการศึกษายุคใหม่อีกประการหนึ่งนอกเหนือจากความรู้และทักษะ คือ การสร้างเจตคติ (Attitude) ให้นักศึกษาเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ
ในโลกปัจจุบันทักษะการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงจำเป็นต้องเตรียมนักศึกษาให้รู้จักวิธีจัดการกับงานในความรับผิดชอบของตนเองภายใต้บริบทของการทำงานเป็นทีมที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลายสาขาอาชีพ รู้จักวิธีบริหารจัดการสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อพิจารณาในมิติด้านความมั่นคงของประเทศ ของภูมิภาค และของโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน นักศึกษา วปอ.จะต้องเรียนรู้วิธีทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ จากมุมมอง แนวคิด ที่หลากหลาย รู้วิธีทำงานกับคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม ดังนั้นการจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรต้องมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อลัน โนเวมเบอร์ อธิบายไว้ในหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ ว่าเรากำลังเข้าสู่การสรรค์สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่นักศึกษาเป็นฝ่ายควบคุมการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และสร้างเนื้อหาที่เป็น
ประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมชั้นหรือแม้แต่นักศึกษาทั่วโลก การถ่ายทอดความรู้จากครูสู่นักศึกษาแบบดั้งเดิม ได้วิวัฒนาการไปเป็นการเรียนรู้แบบที่ชั้นเรียนทั้งชั้นทำงานเป็นทีม บทบาทของครูเป็นการสร้างความสามารถในการเตรียมพร้อมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลตนเองและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น สอดคล้องกับ วิล ริชาร์ดสันอธิบายไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า ต่อจากนี้การเรียนรู้จะมีความเป็นปัจเจกบุคคลอยู่ในความควบคุมของนักศึกษามากขึ้น และมีลักษณะโต้ตอบมากขึ้นกว่าที่เคยเช่นกัน ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องปรับเปลี่ยนคือการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แบบใหม่ เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักศึกษาทั้งแบบบุคคลและแบบกลุ่ม ซึ่ง
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม นักศึกษาต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เช่น ตารางกำหนดการศึกษา ปฏิทินการศึกษา ข้อมูลทางวิชาการ สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอ ติดตามความก้าวหน้าทางการศึกษาของตนเอง
การจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรที่ดำเนินการมากว่า ๕๘ ปีแล้วนั้น กำลังถูกท้าทายโดยกระบวนทัศน์ในการจัดการศึกษายุคใหม่อย่างเงียบ ๆ แต่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของนักศึกษา วปอ.หากไม่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรได้ริเริ่มดำเนินการแล้วคือการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แบบใหม่โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการจัดการการศึกษาให้มากขึ้น
ตอบโจทย์ : ระบบจัดการศึกษา (Learning Solution)
แนวคิดในการพัฒนาระบบการจัดการศึกษา เริ่มมาจากความท้าทายในการจัดการศึกษายุคใหม่ดังที่กล่าวแล้ว อีกทั้งยังเป็นผลมาจากปริมาณงานที่เกิดขึ้นในแต่ละปีการศึกษา ซึ่งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรต้องจัดการศึกษาให้กับนักศึกษา วปอ.เป็นจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างการจัด อัตรากำลัง จำนวนนักศึกษาของหน่วยการศึกษาในลักษณะคล้ายวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จะพบความแตกต่างในปริมาณงานอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ทั้ง ๓ หน่วยที่นำมาเปรียบเทียบ มีอัตรากำลังใกล้เคียงกัน แต่จำนวนนักศึกษามีความแตกต่างกัน ดังตารางข้างล่าง
หน่วย |
อัตรากำลัง(คน) |
ความสมบูรณ์ของการจัดหน่วย |
จำนวน นศ.(คน) |
หมายเหตุ |
วปอ. |
๑๖๓ |
เว้น ส่งกำลัง งบประมาณ การเงิน |
๒๘๐ |
เดิมสมบูรณ์ในตนเอง |
วสท. |
๑๕๒ |
เว้น ส่งกำลัง งบประมาณ การเงิน |
๗๕ |
เดิมสมบูรณ์ในตนเอง |
วทบ. |
๑๓๑ |
สมบูรณ์ |
๑๐๐ |
เดิมไม่สมบูรณ์ |
หมายเหตุ : ก. วิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) เดิมไม่มีความสมบูรณ์ในตนเอง สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ การเงิน และการส่งกำลัง ปัจจุบันใช้ อัตราเฉพาะกิจ หมายเลข ๔๑๙๐ หน่วยมีความสมบูรณ์ในตนเอง
ข. การจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) มีความซับซ้อนกว่าการจัดการศึกษาของ วิทยาลัยเสนาธิการทหาร (วสท.) และวิทยาลัยการทัพบก เนื่องจากผู้เข้ารับการศึกษามีระดับคุณสมบัติสูงกว่า และระดับการศึกษาสูงกว่า
ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จึงกำหนดให้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ (ในความเป็นจริงคือไม่มีระบบงานสารสนเทศ มีเพียงระบบเครือข่ายภายใน (LAN) เท่านั้น) โดยทำการปรับปรุงใน ๒ ส่วนคือ ปรับปรุงระบบเครือข่ายภายในที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพัฒนาระบบบริหารจัดการสารสนเทศเกี่ยวกับการศึกษา เรียกระบบนี้ว่า ระบบจัดการศึกษา (Learning Solution)
ระบบจัดการศึกษา ประกอบด้วยกลุ่มงานหลัก ๔ กลุ่ม คือ งานข้อมูลนักศึกษาและศิษย์เก่า งานจัดการศึกษา งานข้อมูลวิชาการ และงานสนับสนุน กลุ่มงานหลัก ๓ ลำดับแรกจะสนับสนุนงานที่เกิดขึ้นตามกระบวนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตามภาพที่ ๒ สำหรับงานสนับสนุนจะใช้สนับสนุนงานทางธุรการที่เกี่ยวข้องของข้าราชการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
งานข้อมูลนักศึกษาและศิษย์เก่า
งานข้อมูลนักศึกษาและศิษย์เก่า จะเป็นการจัดทำฐานข้อมูลของนักศึกษา วปอ.ตั้งแต่ก่อนเข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป การศึกษา ความสามารถพิเศษ ความสนใจ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนโดยนักศึกษา วปอ.ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลผ่านแบบฟอร์มทางอินเตอร์เน็ต (E – form ) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา เช่น การจัดทำทะเบียนนักศึกษา การจัดกลุ่มนักศึกษาให้สอดคล้องกับกิจกรรมตามกระบวนการศึกษาในแต่ละห้วงเวลา นอกจากนี้งานข้อมูลนักศึกษาจะเก็บรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาแต่ละคนในระหว่างที่ทำการศึกษา และประมวลผลเป็นรายงานให้คณาจารย์ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงความก้าวหน้าของนักศึกษาทั้งในเรื่องเวลาเรียน การมีส่วนร่วมในห้องเรียน การส่งงานบทความวิชาการ และการส่งเอกสารวิจัย
เมื่อสำเร็จการศึกษา ข้อมูลของนักศึกษาจะถูกจัดเก็บในสถานะของศิษย์เก่า ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ในงานเสริมสร้างเครือข่ายด้านความมั่นคง เช่น การสืบค้นข้อมูลศิษย์เก่า วปอ. เพื่อรวบรวมผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติมาร่วมแสวงหาทางออก การสืบค้นข้อมูลศิษย์เก่าในแต่ละพื้นที่เพื่อร่วมจัดทำกิจกรรม เป็นต้น
งานจัดการศึกษา
งานจัดการศึกษาโดยปกติของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรให้เป็นไปตามที่โครงการและหลักสูตรการศึกษากำหนด ประกอบด้วย การจัดทำปฏิทินการศึกษา การจัดทำตารางการศึกษา การเชิญผู้บรรยาย การจัดการบรรยาย การถกแถลง การสัมมนาวิชาการ การศึกษาและดูกิจการภายในประเทศและต่างประเทศ การเขียนบทความวิชาการ การจัดทำเอกสารวิจัย การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การฝึกจำลองสถานการณ์ระดับชาติ ฯลฯ
ระบบจัดการศึกษา (Learning Solution) จะช่วยทำให้งานจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ การจัดทำตารางการศึกษา เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการผ่านระบบทั้งหมดตั้งแต่ขั้นแจ้งวันเวลาให้กองวิชาการผู้รับผิดชอบติดต่อเชิญผู้บรรยาย จนได้เป็นตารางการศึกษาฉบับสมบูรณ์ในระบบ นักศึกษาสามารถเปิดดูได้จากเว็บไซต์ว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร สามารถค้นหาขอบเขต ความมุ่งหมาย วิธีการศึกษาของแต่ละหัวข้อวิชา สามารถค้นหาประวัติผู้บรรยาย ข้อมูลที่ผู้บรรยายนำมาประกอบการบรรยาย หรือแม้กระทั่งกลับมาค้นคว้าข้อมูลการบรรยายในภายหลังได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังช่วยในระบบติดตามและประเมินผลผู้บรรยาย โดยนักศึกษาสามารถประเมินผู้บรรยายผ่านทางเว็บไซต์ได้โดยตรง ระบบจะประมวลผลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบทันที (real time)
การจัดส่งรายงานตามห้วงเวลาของนักศึกษา สามารถดำเนินการผ่านระบบ เช่น การจัดส่งรายงานผลการถกแถลง เมื่อดำเนินการถกแถลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาสามารถเปิดแบบรายงานจากเว็บไซต์ พิมพ์รายงานตามหัวข้อที่กำหนดจนครบ แล้วส่งให้อาจารย์ประจำห้องผ่านระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องไปจัดพิมพ์เป็นรายงานบนกระดาษ นอกจากนี้นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยน ระดมสมอง ในเรื่องต่าง ๆ ที่สนใจร่วมกันผ่าน webpage ที่สามารถสร้างขึ้นในระบบได้โดยตรง
งานข้อมูลวิชาการ
งานข้อมูลวิชาการ ถือเป็นส่วนสำคัญของระบบ เพราะเป็นแหล่งในการรวบรวม เก็บรักษา ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการจัดการศึกษาในแต่ละปี ข้อมูลเหล่านี้คือความรู้และประสบการณ์ของนักศึกษา วปอ.ซึ่งเป็น
ผู้บริหารระดับสูงจากทุกภาคส่วนของประเทศไทยจึงจัดเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและมีความครอบคลุมในทุกมิติของความมั่นคง เดิมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรวบรวมความรู้และประสบการณ์นี้ไว้ในรูปแบบรายงานต่างๆ ของนักศึกษาซึ่งเป็นกระดาษ เช่น รายงานผลการถกแถลง รายงานผลการสัมมนาวิชาการ บทความทางวิชาการ และเอกสารวิจัย เป็นต้น ซึ่งยากต่อการเก็บรักษา จัดระบบ ยากต่อการสืบค้นและการนำไปต่อยอด ด้วยระบบงานข้อมูลวิชาการนี้จะเปลี่ยนรูปแบบของรายงานต่าง ๆ ของนักศึกษา วปอ.ให้เป็นแบบอิเลคทรอนิคส์ ทำให้ง่ายต่อการรวบรวม เก็บรักษา สืบค้น และกระจายข้อมูลต่าง ๆ งานข้อมูลวิชาการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านความมั่นคงของชาติต่อไปในอนาคต
บทส่งท้าย
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่า (วปอ.๒๕๕๔) ในการพัฒนาระบบจัดการศึกษา (Learning Solution) นี้ขึ้น โดยเริ่มดำเนินการในช่วงของปลายปีการศึกษา ๒๕๕๔-๒๕๕๕ ขณะนี้อยู่ในขั้นการทดลองใช้งานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กำหนดเริ่มใช้งานกับนักศึกษา วปอ.ในปีการศึกษา ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ซึ่งจะเปิดการศึกษาในตุลาคม ๒๕๕๖
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีเข็มมุ่งที่ชัดเจน และเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ต่อการพัฒนาระบบจัดการศึกษา (Learning Solution) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ๒๕๕๖-๒๕๕๙ ดังภาพด้านล่าง ด้วยหวังว่าวิทยาลัยจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตได้ และหวังอีกว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ระบบนี้จะเป็นฐานความรู้ด้านความมั่นคงชั้นแนวหน้าของประเทศ และเป็นรากฐานในการสร้างเครือข่ายความมั่นคงของชาติที่ดีต่อไป