การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๗

การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนักศึกษา วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๗ แบ่งการปฏิบัติเป็น ๓ สายการเดินทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

สายการเดินทางที่ ๑ พล.ท. ทักษิณ สิริสิงห ผอ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๑ (หมู่ไก่ฟ้า หมู่วัว และหมู่สิงโต) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้

>>> ๑๐๐๐-๑๒๓๐ ได้ศึกษาดูกิจการในพื้นที่ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยมีนายอาทิตย์ พรคุณา หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ร่วมต้อนรับเเละเป็นวิทยากร ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา (ขณะนี้เขื่อนฯครบรอบ ๕๓ ปี) และบทบาทในการเป็นแหล่งจัดหา ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชน อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งในภาพรวมเขื่อนยังพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ได้พัฒนานวัตกรรมติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแบบลอยน้ำ (Floating Solar) สนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าร้อยละ ๓๐ ในปี ๒๕๘๐ นอกจากนี้ ได้นำเยี่ยมชมเขื่อนสิรินธรและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สถานที่โดยรอบจัดทำป้ายอธิบายองค์ความรู้ทางพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สร้างสถานที่ที่มีความร่มรื่น สวยงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประชาชน ทั้งนี้ นายพงษ์ธร จ่าแสน ผอ.การส่วนควบคุมทางศุลกากร(ช่องเม็ก) ได้เป็นวิทยากร กล่าวถึง ความสำคัญจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทย กับ สปป.ลาว มีหน้าที่เก็บภาษี ควบคุมสินค้านำเข้าและส่งออก และป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง

>>> ๑๓๓๐-๑๖๐๐ จากนั้น นายวัลลภ ชุ่ยรักษา นายด่านศุลกากรช่องเม็ก ร่วมให้การต้อนรับ และนำคณะเดินทางฯ ศึกษาลงพื้นที่ สังเกตการณ์ ด้วยตนเอง ถึงสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ บริเวณด่านศุลกากร (ช่องเม็ก) ที่มีอาคารศุลกากร รูปทรงเรขาคณิต ทันสมัย ขนาดใหญ่ หลังคาโค้งสูง คล้ายปีกนก และยังมีอุโมงค์รอดข้ามไปฝั่งลาว สัญจรทางเท้า รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ มีจุดผ่อนปรนสินค้า ๔ จุด คือ บ้านคันท่าเกวียน บ้านด่านเก่า ช่องตาอู และช่องอานม้า) ทำให้ทราบว่า กิจกรรมการค้าที่เกิดขึ้น ไม่เพียงสนับสนุนเศรษฐกิจชายแดน แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สายการเดินทางที่ ๒ พล.ต. อรรคเดช ประทีปอุษานนท์ รอง ผอ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๒ (หมู่กวาง หมู่เหยี่ยว และหมู่นกยูง) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้

>>> เวลา ๐๘๔๕ เดินทางเข้าสักการะพระอนุสาวรีย์ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อาภากร เกียรติวงค์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ นรข. จ.นครพนม และรับฟังการบรรยายสรุป ๒ หัวข้อ 

ณ บก.นรข. จ.นครพนม ดังนี้ ๑. หัวข้อ “การพัฒนานครพนมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดย น.ส. กนกพร ไชยศล หัวหน้าสำนักงาน จ.นครพนม และ นายจรินทร์ บุตรธเดช ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม สรุปถึงข้อมูลทั่วไป จ.นครพนม เป็นจุดเชื่อมต่อด้านเศรษฐกิจ ระหว่างไทย-ลาว ไทย-เวียดนาม ไทย-จีนตอนใต้ โดยมีช่องทางการค้าชายแดน ๖ จุด ประกอบด้วย จุดผ่านแดนถาวร ๒ แห่ง และจุดผ่อนปรนการค้า ๔ แห่ง มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งลงนามเมื่อ ๑๕ ก.ค. ๖๒  โดย จ.นครพนม มีแผนพัฒนาจังหวัด ๖ ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ด้านการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านการค้าการลงทุน ด้านสังคมและความสุขอย่างยั่งยืน ด้านการรักษาความมั่นคง และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานจุดแข็งของพื้นที่ คือ การวางผังเมืองที่สอดคล้องกับสภาพภูมิทัศน์ การพัฒนาศักยภาพในทุกด้าน และมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการจัดการแผนพัฒนาจังหวัด โดยเฉพาะการมองถึงโอกาสในพื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ ด้วยการจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และต่างชาติเข้ามาลงทุน และ ๒. หัวข้อ “การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบ นรข.” โดย น.อ. อูนนที มุสิกะนันทน์ เสธ.นรข. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่รับผิดชอบการวางกำลัง ลักษณะพื้นที่ปฏิบัติการ สถานการณ์ด้านการทหาร ความมั่นคง และการป้องกันประเทศ รวมถึงปัญหาในพื้นที่ เช่น ปัญหาเส้นเขตแดน ปัญหายาเสพติด ทั้งนี้ ปัญหาเส้นเขตแดน เช่น เกาะดอนต่างๆ อาศัยการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนไทย-ลาว (JBC) เป็นเวทีแก้ไขปัญหา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป รวมถึงเยี่ยมชมการสาธิตการปฏิบัติงานของ นรข.  

สายการเดินทางที่ ๓ พล.อ. พงศ์เทพ  แก้วไชโย ผบ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๓ (หมู่เสือ หมู่ช้าง หมู่นกหัวขวาน และหมู่นกเค้าแมว) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้

>>> เวลา ๑๓๓๐-๑๕๐๐  เดินทางไปฟังการบรรยายสรุป ณ ศาลากลาง จ.อุดรธานี โดยมี นาย ณฐพล  วิถี รอง ผวจ.อุดรธานี,  นายวิเชียร  ขาวขำ ที่ปรึกษา นายก อบจ.อุดรธานี และ ดร.หทัยรัตน์  เพชนพนมพร สส.อุดรธานี เขต ๒ ให้การต้อนรับ ในการนี้ รอง ผวจ.อุดรธานี ได้บรรยายสรุปในหัวข้อ “อุดรธานี เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งมีแผนการพัฒนาความเป็นอัจฉริยะของเมือง 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม พลังงาน เศรษฐกิจ พลเมือง การบริหารภาครัฐ การเดินทางและขนส่ง พลเมือง และการดำรงชีวิต โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การวางรากฐานระบบรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ (Smart Safety Zone), การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์รองรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก และ Platform “Udon Map Muang” ซึ่งเป็นแผนที่ดิจิทัลนำทางสู่ตำแหน่ง และข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัด เป็นต้น หลังจากนั้น ที่ปรึกษา นายก อบจ.อุดรธานี ได้บรรยายการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ๒๕๖๙ ซึ่งกำหนดจัดระหว่าง ๑ พ.ย. ๖๙ – ๑๔ มี.ค. ๗๐ (๑๓๔ วัน) ณ บริเวณชุ่มน้ำหนองแด อ.เมือง จ.อุดรธานี ภายใต้แนวคิด วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ บนเนื้อที่ ๑,๐๓๐ ไร่ โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดเรื่องราวพืชพรรณท้องถิ่น วิถีชีวิตของชาวอีสาน สู่สายตาชาวโลก สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน จ.อุดรธานี ได้ส่งมอบแผนแม่บท (Master Plan) รายละเอียดโครงการจัดสร้างพื้นที่จัดงานฯ และมีหนังสือส่งมอบพื้นที่จัดงานฯ ให้กรมวิชาการเกษตร เรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมการสำหรับการก่อสร้างอาคารและภูมิสถาปัตย์ต่อไป

Visitors: 598,757