การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำวันพุธที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๗
การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนักศึกษา วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำวันพุธที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๗ แบ่งการปฏิบัติเป็น ๓ สายการเดินทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สายการเดินทางที่ ๑
พล.ท. ทักษิณ สิริสิงห ผอ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๑ (หมู่ไก่ฟ้า หมู่วัว และหมู่สิงโต) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้
>>> ๑๑๐๐-๑๒๓๐ เดินทางศึกษาดูกิจการในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ผามออีแดง จ.ศรีษะเกษ เพื่อรับฟังการบรรยายยุทธศาสตร์จังหวัดศรีษะเกษ เพื่อรับทราบข้อมูลพื้นฐานจังหวัด บรรลุวิสัยทัศน์ “ดินแดนเกษตรปลอดภัย การค้า และการท่องเที่ยวครบวงจร” โดยมี คณะทำงานของ นายธาตรี สิริรุ่งวนิช รอง ผวจ. ศรีษะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ นอกจากนี้ พล.ต.สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เป็น นศ.วปอ. รุ่นที่ ๖๗ ได้เป็นวิทยากรบรรยายภารกิจในการรักษาความมั่นคงบนพื้นที่เขตอุทยานฯ ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำ ถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของกำลังทหารในข้อพิพาทลุก มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบค้าไม้ การค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าของเถื่อนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการแทรกแซงจาก เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น แก๊ง Call Center และบ่อนการพนันออนไลน์ ที่อาจเคลื่อนย้ายหรือขยายฐานปฏิบัติการใกล้พื้นที่ชายแดน ทำให้ กกล.สุรนารี ยังต้องปฏิบัติภารกิจคงไว้ซึ่งกำลังทางทหาร ควบคู่ประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการ JBC และ RBC หรือ กิจกรรมส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นศ.วปอ.ฯ ได้จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์มอบให้เป็นขวัญและกำลังใจสำหรับเจ้าหน้าที่ กกล.สุรนารี ในการปฏิบัติงานในทุกหน้าที่ขณะเข้าเยี่ยมชมฐานปฏิบัติการทางทหาร
>>> ๑๕๓๐-๑๗๓๐ เดินทางถึง ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
ได้รับเกียรติจาก ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผวจ. อุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับ และบรรยายถึงข้อมูลพื้นฐานสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี และเป้าหมายการพัฒนาที่เน้นการเกษตรสร้างมูลค่า ศูนย์กลางการค้าโลจิสติกส์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนพื้นฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน
สายการเดินทางที่ ๒
พล.ท.กฤษณ์ จันทรนิยม ปษ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๒ (หมู่กวาง หมู่เหยี่ยว และหมู่นกยูง) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้
>>> เวลา ๐๘๐๐ - ๐๙๐๐ เข้ารับฟังการบรรยายสรุป ณ โรงแรม ๑๐๑ จ.ร้อยเอ็ด โดยมี นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้น
รับฟังการบรรยายสรุป ๒ หัวข้อ ดังนี้ ๑. หัวข้อ “ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ แนวทางการแก้ไขปัญหา” โดย นพ. นิสิต บุญอรัญ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด และนายภิเด่น พงศ์อุดมสุข ป้องกัน จ.ร้อยเอ็ด ได้สรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของ จ.ร้อยเอ็ด การดำเนินงานของอำเภอต้นแบบธวัชบุรี ซึ่งมีการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยมีการขยายผลสำเร็จไปสู่การดำเนินงานอีก ๑๙ อำเภอ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานชุดปฏิบัติการประจำตำบล ๒๐๒ ชุด และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดใน จ.ร้อยเอ็ด อย่างเข้มแข็ง ซึ่งมีแผนพัฒนาต่อเนื่องด้วยการดำเนินงาน ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม ด้านการบำบัดรักษา และด้านการฟื้นฟู ๒. หัวข้อ “การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด” โดย นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ได้สรุป จ.ร้อยเอ็ด ได้รับการประกาศเป็นเขตเมืองเก่า ซึ่งแนวทางการพัฒนา จ.ร้อยเอ็ด ได้แก่ การฟื้นฟูโบราณสถาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้าน เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด สร้างหอโหวต ๑๐๑ หอสูงชมเมืองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องคนตรีที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนร้อยเอ็ด ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธมิ่งเมืองมงคลอยู่ด้านบนหอ มีบึงพลาญชัย ทำให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่มากขึ้นจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
>>> เวลา ๑๓๓๐-๑๕๓๐ รับฟังการบรรยายสรุป ๒ หัวข้อ ณ ด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร ดังนี้ ๑.หัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.มุกดาหาร” โดย นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการ จ.มุกดาหาร สรุปว่า จ.มุกดาหาร ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการท่องเที่ยว แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามบิน รถไฟรางคู่ และสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งคาดว่าหากมีการพัฒนาดังกล่าว อาจเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนศักยภาพด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น และ ๒. หัวข้อ “การตรวจคนเข้าเมือง ด่านพรมแดนมุกดาหาร” โดย พ.ต.อ. พิทักษ์พงษ์ เจริญกุล ผกก.ตม.จว.มุกดาหาร โดยให้ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย งานอำนวยการ งานตรวจบุคคลและพาหนะ งานบริการคนต่างด้าว งานสนับสนุนต่างๆ รวมถึงเยี่ยมชมสภาวะแวดล้อมบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.มุกดาหาร
สายการเดินทางที่ ๓
พลเอก นักรบ บุญบัวทอง ปษ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๓ (หมู่เสือ หมู่ช้าง หมู่นกหัวขวาน และนกเค้าแมว) เดินทางไปดูกิจการ และศึกษาภูมิประเทศ ดังนี้
>>> เวลา ๐๙๐๐-๑๒๐๐ เดินทางไปฟังการบรรยายสรุป ณ รร.ท่าลี่วิทยา จ.เลย โดยมี นายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปการพัฒนา จ.เลย ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีเป้าประสงค์การพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริการภายในจังหวัดควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย จ.เลย ใช้จุดแข็งของจังหวัดมาพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้แก่ ธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และ ธรรมะ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สมุนไพร และ ศูนย์เวลเนส ผลจากการขับเคลื่อนการพัฒนาทำให้ จ.เลย ได้รับรองสถานะความยั่งยืน Green Destinations Silver Award 2024 แห่งแรกในอาเซียน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ด่านพรมแดนไทย-ลาว ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ การพัฒนาเทคโนโลยี และบุคลากรให้มีความพร้อม ตลอดจนการยกระดับด่านท้องถิ่น เป็นด่านสากลบ้านสัง เมืองหมื่น แขวงเวียงจันทน์ หลังจากจบการบรรยาย คณะ นศ.วปอ.๖๗ ได้เดินทางไปดูกิจการด่านศุลกากรท่าลี่ และด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง โดยมีนายอาชว์ พดด้วง นายด่านศุลกากรท่าลี่ ให้การต้อนรับ และนำชมพื้นที่ด่านทั้งบริเวณชายแดน และระบบตรวจสอบสินค้าด้วยเรื่องเอ็กซเรย์ของด่านศุลกากรท่าลี่ ซึ่งสามารถตรวจสอบระดับความหนาแน่นและความผิดปกติของสิ่งของบนรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออก บริเวณด่านชายแดนได้
>>> เวลา ๑๔๐๐-๑๗๐๐ เดินทางไปฟังการบรรยายสรุป ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย โดยมี นางสาว เนตรนภา งามเนตร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ โดยกล่าวถึงภารกิจหน้าที่ของอุทยานฯ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการดูแลรักษาพื้นที่/อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการท่องเที่ยว และการดูแลรักษา/จัดการการครอบครองที่ดินและการทำมาหากินของประชาชน ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานฯ ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ นอกจากนี้ทางอุทยานยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ การร่วมเป็นวิทยากรหรือการร่วมจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น หลังจากจบการบรรยาย ยังได้นำคณะ นศ.วปอ.๖๗ เยี่ยมชมบริเวณรอบอุทยานภูเรืออีกด้วย