การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๗
การเดินทางดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนักศึกษา วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๗ แบ่งการปฏิบัติเป็น ๓ สายการเดินทาง สรุปรายละเอียด ดังนี้
สายการเดินทางที่ ๑
>>> เวลา ๑๐๐๐-๑๗๐๐ พล.ท. ทักษิณ สิริสิงห ผอ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๑ (หมู่ไก่ฟ้า หมู่วัว และหมู่สิงโต) เดินทางเข้าเยี่ยมชม ชมวีดีทัศน์ และรับฟังการบรรยายยุทธศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์ ณ สนามฟุตบอลช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายปิยะ ปิจนำ รอง ผวจ. บุรีรัมย์ ให้การต้อนรับ และ คุณยุทธชัย พงศ์พณิช รองนายก อบจ.ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นวิทยากร ได้กล่าวถึง การพัฒนาของจังหวัดที่มุ่งเน้นเป็น “เมืองต้นแบบ เมืองกีฬา” แต่อย่างไรก็ตาม นักศึกษาให้ข้อเสนอแนะว่า จังหวัดบุรีรัมย์ยังคงต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาแหล่งที่พักแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เพียงพอและเหมาะสม เพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากนั้น เยี่ยมชมกิจการ ศูนย์คชศึกษา จ.สุรินทร์ และรับชมวิดีทัศน์ยุทธศาสตร์จังหวัด โดยมี นาย ชำนาญ ชื่นตา ผวจ.สุรินทร์ และคณะข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ สภาพปัจจุบันของศูนย์นี้ ยังคงเป็นกิจการที่ดำรงบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของชาวกูยในถิ่นฐานเดิมที่มีความผูกพันกับช้างมาแต่โบราณ ทั้งนี้ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ยกระดับให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้โครงการ “โลกของช้าง” ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีในการนำเสนอข้อมูล เเละมีลานจัดชมการแสดงช้าง ถือเป็นสถานที่สำคัญ ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่กับการผลักดันเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นของจังหวัดให้มีความอย่างยั่งยืน
สายการเดินทางที่ ๒
>>> เวลา ๑๓๐๐-๑๕๐๐ พล.ท.กฤษณ์ จันทรนิยม ปษ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๒ (หมู่กวาง หมู่เหยี่ยว และหมู่นกยูง) เดินทางเข้าเยี่ยมชม ชมวีดีทัศน์ และรับฟังการการเสวนา ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม โดยมี นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รอง ผวจ. จ.มหาสารคาม ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดมหาสารคาม โดย จ.มหาสารคาม ได้รับสมญานามว่า “สะดืออีสาน” และ “เมืองตักกะศิลานคร” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้น รับฟังการเสวนา ในหัวข้อ “การพัฒนาการศึกษาเพื่อลดเหลื่อมล้ำ” โดยมี รศ.ดร. ประยุกต์ ศรีวิไล อธิบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ดร.พุทธารัตน์ ทะสา รองศึกษาธิการ จ.มหาสารคาม นายสุวิทย์ สวัสดี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม และนายโฆษิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้ร่วมเสวนาฯ และ ผศ.ดร. ปัทมา รูปสุวรรณกุล และ ผศ.ดร. วันวิชิต บุญโปร่ง นศ. วปอ. รุ่นที่ ๖๗ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยกล่าวถึง การพัฒนาด้านการศึกษาของ จ.มหาสารคาม ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ โดยการกระจายการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเข้ามาในระบบการศึกษามากขึ้น มีแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้น สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เช่น มิติเศรษฐกิจ อาทิ การศึกษาช่วยสร้าง Big Data, นวัตกรรม, บัญชี และการเงิน งานวิจัย ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นต้น และมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น รวมถึงการสืบสานด้านศิลปะวัฒนธรรม
สายการเดินทางที่ ๓
>>> เวลา ๑๓๐๐-๑๕๐๐ พลเอก นักรบ บุญบัวทอง ปษ.วปอ.สปท. นำคณาจารย์ และ นศ.วปอ.รุ่นที่ ๖๗ ประจำสายการเดินทางที่ ๓ (หมู่เสือ หมู่ช้าง หมู่นกหัวขวาน และหมู่นกเค้าแมว) เดินทางดูกิจการอุทยานมิตรผลภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยมี นายสนอง มะลัยขวัญ นายอำเภอภูเขียว และนายคำสี แสนศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ ให้การต้อนรับ โดยนักศีกษาได้รับฟังการบรรยายสรุปกิจการอุทยานมิตรผลภูเขียวในภาพรวม และการบรรยายจาก ๔ กลุ่มงาน ได้แก่ งานด้านอ้อย , กระบวนการผลิตน้ำตาล, ธุรกิจไฟฟ้า (Bio-Power) และธุรกิจเอทานอล ซึ่งในพื้นที่อุทยานฯ ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ประกอบด้วย โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โรงงานเอทานอล โรงผลิตยีสต์ โรงไฟฟ้า โรงงานน้ำตาล และศูนย์วิจัย ซึ่งเป็นการทำธุรกิจน้ำตาลไปจนถึงพลังงานหมุนเวียน และไบโอเบส โดยให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยปัจจุบันทางอุทยานฯ มีพนักงานประมาณ ๑,๙๐๐ คน เป็นการจ้างงานคนในพื้นที่ร้อยละ ๘๐ และสนับสนุนเกษตรกรในการปลูกไร่อ้อย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตั้งแต่การสนับสนุนทุน ปัจจัยการผลิต การให้ความรู้/ทักษะ/ประสบการณ์ และการรับซื้อผลผลิต ซึ่งทางอุทยานฯ ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจมิตรผล มีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ครอบคลุม ๓ มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จำนวน ๑๒ เป้าหมาย จากทั้งหมด ๑๗ เป้าหมาย และหลังจากรับฟังการบรรยายสรุปทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังได้นำคณะนักศึกษา วปอ. เยี่ยมชมกิจการในพื้นที่อุทยานฯ อีกด้วย