ความเป็นมา/ประวัติสถาบัน

 

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูงของกระทรวงกลาโหม ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมเสนาธิการกลาโหม พ.ศ.2498 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 เพื่อ “ประศาสน์วิทยาการด้านการป้องกันราชอาณาจักรให้แก่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้ง ฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน เพื่อให้เกิดความสำนึกและตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในอันที่จะต้องป้องกัน ต่อสู้ การจัด สรรพกำลัง การปกครอง และการรักษา ความสงบของประเทศ”

 

แนวความคิดที่ได้ก่อกำเนิดวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปรากฏตามความนำ ของระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประกาศเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2498 ว่า “ในการป้องกันประเทศชาติให้พ้นจากการรุกรานในสมัยนี้หาได้มีความสำคัญอยู่ที่กำลังทางทหารแต่ฝ่ายเดียวไม่  ตรงกันข้ามบรรดาเจ้าหน้าที่ในกระทรวงทบวงกรมตลอดจนองค์การทั้งสิ้นย่อมมีความสำคัญในการป้องกันชาติร่วมกัน รวมทั้งพลเมืองของชาติตลอดจนทรัพยากรทั้งมวลจะต้องเข้าอยู่ในแผนการป้องกันชาติด้วยเพื่อที่จะให้การร่วมมือประสานงานกันได้เรียบร้อยทั้งในการต่อสู้การจัดสรรพกำลังการปกครองและการรักษาความสงบ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นเป็นแหล่งกลางเพื่อประสาทความรู้ในสาขาต่างๆโดยกว้างๆให้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่ดำเนินการเป็นฝ่ายปฏิบัติการชั้นสูงของรัฐบาลในด้านของการป้องกันราชอาณาจักร สถาบันแห่งนี้ให้ชื่อว่า

“วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร”

 

แนวความคิดดังกล่าวเริ่มปรากฏเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2492 โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และในฐานะที่ได้ดำรงตำแห่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย  จึงได้อนุมัติให้กรมเสนาธิการกลาโหมเป็นหน่วยดำเนินการพิจารณาสรรหาที่ตั้งของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ต่อมา พ.ศ.2496 พลเอก เดช เดชประดิยุทธ ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกลาโหมตกลงใจเลือกบริเวณด้านหลังอาคารกระทรวงกลาโหมเป็นที่ก่อสร้างวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

 

 

ประวัติสถาบัน

 

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรได้มีการวางศิลาฤกษ์ในวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2496 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2497 ได้ทำพิธีเปิดอาคารพร้อมๆกับพิธีเปิดการศึกษา วปอ.รุ่นที่ 1 ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2498 โดยฯพณฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นประธานในพิธี

พัฒนาการของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรที่ผ่านมาทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม อาจแบ่งได้ 3 ยุคดังนี้

ยุคแรกคือยุคการก่อตั้ง (พ.ศ.2498-2509)
ยุคที่สองคือยุคพัฒนา (พ.ศ.2510-2520)
ยุคที่สามคือยุคสองประสาน (พ.ศ.2531 – ปัจจุบัน)

 

ยุคแรกคือยุคการก่อตั้ง (พ.ศ.2498-2509)

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรยุคแรกมีที่ทำการอยู่ด้านหลังของอาคารกระทรวงกลาโหมริมคูเมืองชั้นในซึ่งเรียกกันว่าคลองโรงไหม (คลองเตย)
ดำเนินการก่อสร้างในวงเงินงบประมาณ 7,493,000 บาท โดยได้สร้างเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของอาคารด้านหลังของกระทรวงกลาโหม มีทางเดินติดต่อกัน 3 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องบรรยาย ชั้นกลางเป็นห้องประชุม และชั้นล่างเป็นห้องรับรอง ซึ่งใช้เป็นห้องประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับด้านปีกของอาคารซึ่งต่อออกมาในทางทิศใต้นั้น ส่วนหนึ่งใช้ทำเป็นที่ทำการของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อีกส่วนใช้เป็นที่ตั้งของกรมเสนาธิการกลาโหม และอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นที่ประชุมขององค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ (SEATO SOUTHEAST ASIA TREATY ORGANIZATION)

การจัดการศึกษาในยุคแรก นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 68 คนประกอบด้วยข้าราชการทหารที่มียศตั้งแต่พลจัตวาพลเรือจัตวา และพลอากาศจัตวา ขึ้นไป กับข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ และนายตำรวจที่มียศตั้งแต่นายพลตำรวจจัตวา ขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ นักศึกษาแต่ละคนจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เข้ารับการศึกษา ซึ่งได้ถือปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2498 นับเป็นวันปฐมฤกษ์ของการศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเมื่อพลเอกจิระ  วิชิตสงคราม เสนาธิการกลาโหมรองผู้บัญชาการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กล่าวรายงานสรุป แนวความคิดที่จำเป็นให้มีการเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรขึ้นต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

ในพิธีนี้มี ข้าราชการระดับรัฐมนตรี อธิบดี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ และผู้มีเกียรติอื่นๆ มาร่วมพิธีด้วยจำนวนมาก วิธีการศึกษาใช้เวลาศึกษาในห้องเรียนด้วยวิธีการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การชมภาพยนตร์ และการปฏิบัติการเป็นคณะ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับการถกแถลงเป็นคณะ การแก้ปัญหา และการสัมมนาเป็นกลุ่มเฉกเช่นในปัจจุบัน ส่วนการศึกษานอกห้องเรียนเป็นการเดินทางไปดูกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งการไปศึกษาภูมิประเทศในบางจังหวัดอีกตามสมควรเท่าที่เวลาจะอำนวยให้ ในยุคนี้มีการบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงรับพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรกิตติมศักดิ์ ณ ห้องประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทับฉายพระรูปร่วมกับข้าราชการและนักศึกษา ทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับข้าราชการและนักศึกษาตอนหนึ่งว่า “......การวิจัยของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จะต้องตรงไปตรงมาและจริงจัง มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างไรก็เสนอไปอย่างนั้น ไม่ต้องเกรงว่าจะไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป โดยคิดให้ได้ว่าไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชาดีกว่าพ่ายแพ้ศัตรู........”

 

ยุคที่สองคือยุคพัฒนา (พ.ศ.2510-2520)

เนื่องจากสถานที่ตั้งเดิมของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อยู่ร่วมกับกรมเสนาธิการกลาโหม (กองบัญชาการทหารสูงสุด) คับแคบ ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นนักศึกษา  จึงได้พิจารณาที่ตั้งแห่งใหม่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้รับที่ดินจากกองทัพบก จำนวน 37 ไร่ 86 ตาราวา บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 6 ริมถนนวิภาวดีรังสิต ในเขตอำเภอพญาไท เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารใหม่ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร การก่อสร้างอาคารได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ.2504 ภายใต้การกำกับดูแลของ พลโทเฉลิม มหัทธนานนท์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาจักร ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มาเป็นประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2504 การก่อสร้างนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,422,000 บาท (ยี่สิบสองล้านสี่แสนสองหมื่นสองพันบาทถ้วน) เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนและหอประชุมใหญ่แล้วเสร็จพอที่จะใช้งานได้ จึงได้ดำริให้ย้ายที่ทำการจากหลังกระทรวงกลาโหมมาอยู่ ณ อาคารใหม่แห่งนี้เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พิธีเปิดอาคารแห่งใหม่ได้จัดขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2510  โดยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นประธานในพิธี ขณะนั้นเป็นเวลาที่นักศึกษาฯ รุ่นที่ 9 กำลังศึกษาอยู่ นับเป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่ได้รับการศึกษา ในอาคารหลังกระทรวงกลาโหม และเป็นนักศึกษารุ่นแรกเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 20 ปี  ปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ นับหลากหลายเกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งภาพความเคลื่อนไหวของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สรุปได้ ดังนี้

- ด้านการศึกษา  มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาและวิธีการศึกษาให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ โดยเฉพาะระเบียบวิธีปฏิบัติในฐานการศึกษาเช่นจัดให้มีการศึกษาหลักสูตร ปฐมนิเทศ กำหนดหลักเกณฑ์ในการสำเร็จการศึกษาโดยวางระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.2508 และปรับเปลี่ยนการบริหารการศึกษา โดยให้มีสภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

- ด้านการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษา ได้กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ เข้าศึกษาได้ เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หลายหน่วยมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ สมควรที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานเหล่านั้น จะได้รับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และให้สิทธิสตรีเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรได้เช่นเดียวกับบุรุษ

- ด้านสถานที่  ได้มีการพัฒนาสถานที่ เพิ่มเติมอีกตามความจำเป็น ทั้งเพื่อใช้ในราชการ และเพื่อสวัสดิการแก่ ข้าราชการ และคนงานในวิทยาลัยการปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานใกล้เคียง และนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 

- ด้านกิจกรรมและงานสังคม ยุคนี้ได้รับการสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ และการประสานประโยชน์ จากวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

- การปลูกต้นไม้อนุสรณ์ เป็นงานประจำปีที่สำคัญ งานหนึ่งของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งได้เป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่านักศึกษารุ่นใดกำลังศึกษาอยู่จะต้องปลูกต้นไม้ประจำรุ่นไว้เป็นอนุสรณ์และที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น เป็นมิ่งมงคลแก่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจนบัดนี้ ก็คือในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษารุ่นที่ 16 เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ.2517 นั้น ได้ทรงปลูกต้นบุนนาคไว้ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ บริเวณสวนหย่อมระหว่างตึกอำนวยการกับหอประชุมของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรด้วย

- งานเลี้ยงขอบคุณทูตานุทูตที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณคณะทูตของประเทศที่นักศึกษาเดินทางไปศึกษากิจการ ในการจัดทำกำหนดการศึกษากิจการของประเทศนั้น ๆ และการช่วยประสานงานกับหน่วยงานในต่างประเทศ

- งานต้อนรับนักศึกษาใหม่เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ ระหว่างนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ทุกรุ่น เพื่อแสดงความยินดีและต้องรับนักศึกษารุ่นปัจจุบันเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสโมสรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

- การแข่งขันกอล์ฟประเพณี เป็นการจัดการแข่งขันกอล์ฟระหว่างข้าราชการ และนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อประสานสัมพันธ์และเพื่อหารายได้สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา และกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์

- งานคล้ายวันสถาปนา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นงานที่ ระลึกถึงวันที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมเสนาธิการกลาโหม พ.ศ.2498 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 และได้จัดงานสืบต่อกันมาทุกปี จนถึงปัจจุบัน

- ด้านการฝึกอบรมลูกเสือ
กิจกรรมนี้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 ณ ค่ายฝึกวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระยะเวลาการฝึก 5 วันการฝึกอบรมแต่ละครั้งนับว่าได้ผลดีอย่างยิ่งเพราะนอกจากนักศึกษาจะได้รับความรู้และทักษะในการเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือแล้ว การได้ทำกิจกรรมร่วมกันและมีเวลาอยู่ใกล้ชิดกันตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรมทำให้นักศึกษาที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน นับเป็นวิธีเสริมสร้างความรักความสามัคคีที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่งภายในระยะเวลาอันจำกัด

 

ยุคที่สามคือยุคสองประสาน (พ.ศ.2531 – ปัจจุบัน)

เป็นยุคที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานมีการนำโทรสารและคอมพิวเตอร์ กำลังพลระดับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้รับการสงเสริมให้เข้าศึกษาอบรมในด้านการปฏิบัติงานตอนโดยรวมสถาบันการศึกษาที่สำคัญ 3 สถาบันของกองบัญชาการทหารสูงสุดคือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันจิตวิทยาความมั่นคงและโรงเรียนเสนาธิการทหาร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อยู่ภายใต้การบริหารของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผลงานชิ้นสำคัญ ที่ทำให้ขนานนามยุคนี้ว่า ……ยุคสองประสานคือการเกิดแนวความคิดใหม่ในด้านการป้องกันราชอาณาจักรเพื่อเป็นการเตรียมรับและเพื่อความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก……….

กองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันคือกองบัญชาการกองทัพไทย) ได้มองเห็นความจำเป็นของการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนได้เข้ามาร่วมสร้างความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐกิจร่วมกันกับภาครัฐบาลด้วยการทำความเข้าใจให้ตรงกันในหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีความมั่นคั่งและมั่นคงของประเทศชาติ สามารถรวมกันแก้ปัญหาและพิจารณากำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติทางด้านเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของชาติและนำประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงได้นำแนวความคิดดังกล่าวมาพัฒนาการจัดการศึกษาและความเป็นไปได้ ในการจัดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับภาคเอกชน จนสามารถกำหนดรูปแบบและหลักการต่างๆโดยอาศัยหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรที่มีเป็นแนวทางมาผสมผสานกับร่างหลักสูตรการศึกษา  สำหรับโครงการพัฒนานักบริหารภาครัฐและเอกชนของสถานศึกษา และวิจัยรัฐวิสาหกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรที่จัดขึ้นใหม่นี้ใช้ชื่อว่า  “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน” (NATIONAL DEFENCE COURSE FOR THE JOINT STATE PRIVATE SECTOR) เรียกโดยย่อว่า หลักสูตร ปรอ. หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. เปิดการศึกษารุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2532 วิธีดำเนินการศึกษาประกอบด้วยการบรรยาย การถกแถลง การสัมมนา การแก้ปัญหา การศึกษาด้วยตนเอง การเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคล และการศึกษากิจการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

จากจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทำให้อาคารเดิมที่จัดการศึกษาอยู่คับแคบไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาได้ พ.ศ.2534 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการก่อสร้างอาคารวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหนึ่งหลังและหอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหนึ่งหลัง เป็นเงินงบประมาณ 252,000,000 บาท (สองร้อยห้าสิบสองล้านบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2534 แล้วเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2538 ตัวอาคารวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดไม่มีคาน และระบบพื้นสำเร็จรูปสูง 5 ชั้น ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

พ.ศ.2546 พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้นได้มีดำริให้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเปิดหลักสูตรการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้นักการเมืองได้มีส่วนร่วมเข้ารับการศึกษาในลักษณะเดียวกันเพราะมีความเห็นว่าภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงได้เปิดการศึกษา “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐเอกชนและการเมือง” หรือ วปม. ขึ้นมาอีก 1หลักสูตร  โดยเริ่มเปิดการศึกษา รุ่นที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2546 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปีการศึกษา พ.ศ.2549 ซึ่งตรงกับหลักสูตร วปม.รุ่นที่ 4

พ.ศ.2547 พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเปิดรับนักศึกษาชาวต่างประเทศเข้าศึกษาในหลักสูตร วปอ.  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาชาวต่างประเทศเข้ารับการศึกษา  ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ารับการศึกษาในหลักสูตร วปอ. ทุกปีการศึกษา

ปีการศึกษา 2550 สภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยมีพลเอก บุญรอด สมทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานสภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ได้มีมติให้ปิดการศึกษาหลักสูตร วปม. ลง เมื่อ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ แต่ยังคงให้นักการเมืองสามารถเข้ามาศึกษาร่วมในหลักสูตร ปรอ. ได้ โดยเข้ามาศึกษาในคุณสมบัติของ บุคคลทั่วไป เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายได้เสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน ในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันที่ทุกๆ ฝ่ายต้องคิดร่วมกัน และปฏิบัติร่วมกันภายใต้ความมั่นคงในมิติใหม่ จากนั้น สภา วปอ. ได้มีมติให้เปิดการศึกษาหลักสูตร วปม. อีกครั้ง โดยหลักสูตร วปม. รุ่นที่ ๕ ได้เปิดการศึกษาเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และมีการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึง วปม.รุ่นที่ ๗ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ ต่อมาสภา วปอ. ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมสภา วปอ. เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ ให้เปิดการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ เหลือเพียงหลักสูตรเดียว คือ วปอ. รุ่นที่ ๕๗ โดยมีการปรับหัวข้อวิชาทั้งามาจนถึง วปม. รุ่นที่ ๔ สามหลักสูตรรวมเป็นหลักสูตรเดียวเพื่อให้การจัดการศึกษา มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่เกิดความแตกต่างกันในแต่ละหลักสูตร รวมทั้ง วปอ.ฯ ได้ทาการปรับปรุงห้องเรียนและหอประชุมพิบูลสงคราม (ห้องบรรยายรวม) ให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับนักศึกษาได้)

ที่มา กองพัฒนาการศึกษาฯ (๕ ต.ค.๕๔)

 

Visitors: 597,994