หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร
เนื้อหาหลักสูตร
โครงการศึกษาและหลักสูตรการศึกษา
สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๖
ประจำปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๖๗
..............................................
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
พ.ศ.๒๕๔๗ และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนี้
"ประศาสน์วิทยาการและวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันราชอาณาจักรให้แก่ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน และนักการเมือง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และการอำนวยการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ"
เพื่อบรรลุผลตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ โดยอนุมัติของ
สภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จึงกำหนดโครงการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗
ไว้เป็นหลักในการดำเนินการจัดการศึกษา สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๖ ดังนี้
หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๖ แบ่งการศึกษา ออกเป็น ๒ ภาคการศึกษา คือ
๑. ภาคการปฐมนิเทศ
๒. ภาคการศึกษาหลัก
ภาคการปฐมนิเทศ
Orientation
ความมุ่งหมาย
เพื่อให้นักศึกษาทราบถึงกระบวนการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทของกองทัพ ภาครัฐ เอกชน และภาคการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์
ผลลัพธ์ที่ต้องการ
นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ รวมทั้งบทบาทของกองทัพ ภาครัฐ เอกชน และภาคการเมือง ต่อการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน สามารถประสานงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมต่อการศึกษาในภาคการศึกษาหลัก
ขอบเขตการศึกษา
เพื่อที่จะให้บรรลุความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษา จึงจัดให้นักศึกษาได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. กระบวนการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ
๒. บทบาทและภารกิจของกองทัพในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
๓. บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
๔. พื้นฐานเบื้องต้นการทำเอกสารวิจัยส่วนบุคคล
๕. กิจกรรมลูกเสือ และการเสริมสร้างภาวะ ตลอดจนประสบการณ์ผู้นำ
วิธีดำเนินการศึกษา
เพื่อให้การศึกษาในภาคการปฐมนิเทศได้ผลตามความมุ่งหมายและขอบเขตที่กำหนดไว้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ จึงกำหนดวิธีดำเนินการศึกษา ดังนี้
๑. การบรรยาย เป็นวิธีการให้ความรู้โดยตรงในหัวข้อวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ทั้งนี้จะพิจารณาผู้บรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในกิจการนั้น ๆ จากส่วนราชการต่าง ๆ และหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งผู้บรรยายของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ
๒. การอ่านเอกสารประกอบบทเรียน ได้แก่ คำบรรยาย เอกสารประกอบการบรรยาย และเอกสารซึ่งผู้บรรยาย หรือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ เสนอแนะให้ใช้เป็นเอกสาร
อ่านประกอบ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากเวลาในการบรรยายมีจำกัด
๓. การดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศ สำหรับภาคการปฐมนิเทศ เป็นการดูกิจการหน่วยงานทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และภาคเอกชน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นเวลา ๕ วัน ในลักษณะไปเช้าเย็นกลับ อาทิ กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงต่าง ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุสรณ์สถานแห่งชาติ และศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง ศูนย์บัญชาการทางทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจในบทบาท หน้าที่
ของหน่วยงานต่าง ๆ บางหน่วยงานอาจไปทั้งคณะ บางหน่วยงานอาจแบ่งตามกลุ่มอาชีพ เช่น ทหาร ตำรวจ ไปดูกิจการหน่วยงานของข้าราชการพลเรือน/ภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ข้าราชการพลเรือน/ภาคเอกชน ไปดูกิจการหน่วยงานของทหาร ตำรวจ ซึ่งหลังจากการดูกิจการภาคการปฐมนิเทศนักศึกษาจะมีความพร้อมที่จะศึกษาในภาคการศึกษาหลักต่อไป
๔. การฝึกอบรมลูกเสือระดับผู้นำขั้นความรู้ชั้นสูง เป็นวิธีการศึกษาที่จัดเสริมขึ้น
เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงในกิจกรรมของลูกเสือ และเพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
การประเมินผล
นักศึกษาทุกกลุ่มตามหมู่ลูกเสือจัดทำสรุปเนื้อหาวิชาการศึกษาทั้งหมด ๔ หัวข้อวิชา
ที่ได้ศึกษามาแล้ว โดยรวมการศึกษาดูกิจการและการฝึกอบรมลูกเสือหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อยู่ในการศึกษาหลักสูตรการปฐมนิเทศ และนำเสนอเรื่องที่ได้รับการศึกษา ปัญหาข้อขัดข้อง รวมทั้งแนวทางแก้ไขให้กับ วปอ.ฯ ตามเวลาที่ วปอ.ฯ กำหนด และจัดทำเป็นเอกสารส่ง กองการเมืองและการทหาร สำนักวิทยาการความมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ (กมท.สวม.วปอ.สปท.) จำนวนกลุ่มละ ๓ ชุด
ระยะเวลาการศึกษา : ภาคการปฐมนิเทศ
๑. ใช้เวลาศึกษาประมาณ ๘ สัปดาห์ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ และเสร็จสิ้นก่อน
เริ่มภาคการศึกษาหลักในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔
๒. การศึกษาในห้องบรรยายใช้เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ ชั่วโมง กำหนดการศึกษาในวันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา ๐๘๐๐ - ๑๒๐๐ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
๓. การดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศ ใช้เวลาประมาณ ๑๐ วัน แบ่งเป็นใน กทม.ฯ
๕ วัน และต่างจังหวัด ๑ สัปดาห์ ระหว่างวันจันทร์ – วันศุกร์
๔. การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำขั้นความรู้ชั้นสูง ใช้เวลาเข้าร่วมการ ฝึกอบรม ๕ วัน ระหว่างวันจันทร์ – วันศุกร์ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดการปฏิบัติต่อไป
วิชา ป. – ๑
กระบวนการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ
NDC Course and Educational Procedures
รหัส ๐๑๐๐๐
เวลา ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที
วิธีศึกษา บรรยาย
ความมุ่งหมาย เพื่อให้นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรได้ทราบถึงกระบวนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ ตลอดจนการปฏิบัติตนในระหว่างการเข้ารับการศึกษา
ขอบเขต โครงการและหลักสูตรสำหรับนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร การดำเนินการศึกษาที่ควรทราบ และการปฏิบัติตนระหว่างเข้ารับการศึกษา
วิชา ป. – ๒ บทบาทและภารกิจของกองทัพในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
Role of The Thai Royal Armed Forces in National Security
รหัส ๐๒๐๐๐
เวลา ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที
วิธีศึกษา บรรยาย/ดูกิจการ : กองบัญชาการกองทัพไทย
ความมุ่งหมาย เพื่อศึกษานโยบายและบทบาทของกองทัพไทยในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
ขอบเขต ประวัติความเป็นมา พัฒนาการของนโยบายและบทบาทของกองทัพไทยในการ
รักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วิชา ป. – ๓ บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
Role of Government, Private and Political Sector in National Security
รหัส ๐๓๐๐๐
เวลา ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที
วิธีศึกษา บรรยาย (ผู้บรรยาย : นายกรัฐมนตรี บรรยายในวันพิธีเปิดการศึกษา)
ความมุ่งหมาย เพื่อศึกษานโยบาย และบทบาทของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการเมือง
ขอบเขต นโยบายและบทบาทของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร และนวัตกรรม
วิชา ป. – ๔ การเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคล
Individual Research Paper
รหัส ๐๔๐๐๐
เวลา ๖ ชั่วโมง
วิธีศึกษา อภิปรายเป็นคณะ และสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
ความมุ่งหมาย เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเรื่อง แนวคิด หลักการ และกระบวนการวิจัย สามารถนำมาใช้ในการเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ขอบเขต หลักการทำวิจัยทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ ได้แก่ กระบวนการทำวิจัย ประเภทของการวิจัย ระเบียบวิธีดำเนินการวิจัย การเลือกหัวข้อวิจัย การออกแบบการวิจัย
กรอบแนวคิดการวิจัย การเขียนโครงการวิจัย และจรรยาบรรณนักวิจัย นวัตกรรมการวิจัย แนวคิดในการเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงแห่งชาติ
ภาคการศึกษาหลัก
Main Course Syllabus
ความมุ่งหมาย
๑. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และฝึกฝนให้เกิดทักษะในการคิด วิเคราะห์ และการตกลงใจ ในการเป็นผู้นำทางยุทธศาสตร์ รวมถึงการแสดงออกถึงภาวะผู้นำในระหว่างการเข้ารับการศึกษา
ตลอดหลักสูตร
๒. เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงแนวความคิดในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติและวัตถุประสงค์แห่งชาติ รวมทั้งกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนการแก้ไขปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ
๓. ศึกษาสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการจัดทำและแก้ไขปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจน
พลังอำนาจแห่งชาติใหม่ (DIME)
๔. ศึกษา บทบาท หน้าที่ และแนวนโยบายของภาครัฐ ในการจัดการปัญหาวิกฤต
ในระดับชาติที่เกิดจากสาธารณะภัยและภัยจากการสงคราม
๕. เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถสร้างผลผลิต กิจกรรม และโครงการเพื่อสังคม
๖. เพื่อปลูกจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
๗. เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างนักศึกษาจากทุกภาคส่วน อันจะอำนวยประโยชน์ในการประสานงานระหว่างกัน เพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ต่อไป
ขอบเขตการศึกษา
เพื่อให้การศึกษาในหลักสูตรนี้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ นักศึกษาฯ จะต้องทำการศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ตามขอบเขตการศึกษา ที่กำหนด ดังนี้
๑. คุณลักษณะ ทักษะของผู้บริหารระดับยุทธศาสตร์ แนวทางในการคิด วิเคราะห์ และ
ตกลงใจระดับยุทธศาสตร์
๒. แนวคิดทฤษฎีด้านความมั่นคง แนวคิดทฤษฎีด้านยุทธศาสตร์ โครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติ กระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ
๓. สถานการณ์ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ
สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร และนวัตกรรม อันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ตลอดจนพลังอำนาจแห่งชาติในศตวรรษที่ ๒๑ (DIME)
๔. การเมืองระหว่างประเทศและในประเทศกับความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ ในประชาคมโลก ความร่วมมือระหว่างประเทศ
การบริหารจัดการของส่วนราชการในประเทศ วิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของประเทศไทย
๕. การเศรษฐกิจกับความมั่นคงแห่งชาติ แนวโน้มภาวะแวดล้อมโลกด้านเศรษฐกิจ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การพัฒนาระบบการเงินและการคลังของโลกและของไทย วิกฤตเศรษฐกิจ ความร่วมมือของรัฐกับเอกชน ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานของไทย การบริหารเศรษฐกิจแบบองค์รวม วิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย
๖. สังคมจิตวิทยากับความมั่นคงแห่งชาติ สภาพสังคมโลกและภูมิภาคที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย ประชากรกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การศึกษาเพื่ออนาคต คอรัปชั่นและระบบอุปถัมภ์ อาชญากรรมทางสังคมยุคใหม่ อิทธิพลของสื่อมวลชน ประวัติศาสตร์ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ กับความมั่นคงของชาติ วิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านสังคมจิตวิทยาของประเทศไทย
๗. การใช้กำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหาร บทบาทและขีดความสามารถของ
กองทัพไทย ที่จำเป็นในการดำเนินนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ด้านการป้องกันประเทศและการพัฒนาประเทศ รวมทั้งขีดความสามารถและยุทธศาสตร์ด้านการทหารของต่างชาติที่อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ
๘. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร และนวัตกรรม กับความมั่นคงแห่งชาติ วิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อ การดำเนินนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร และนวัตกรรม ของประเทศไทย
๙. การบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ภายใต้สาธารณภัยที่เกิดขึ้น และภัยจากสงคราม
วิธีดำเนินการศึกษา
การศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ มีความมุ่งหมายที่จะให้นักศึกษามีความรอบรู้ ความเข้าใจ มีความร่วมมือ มีการประสานงาน และมีประสบการณ์ ในการดำเนินการพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงของชาติ โดยมีวิธีการศึกษาดังนี้
การบรรยาย/อภิปราย
การบรรยายตามกำหนดการศึกษา เป็นวิธีการปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ใช้เพื่อพัฒนา
ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ตามหัวข้อวิชาที่กำหนดไว้ในแต่ละบทเรียน รวมทั้งจัดให้มีการอภิปราย
เป็นคณะ (Panel) เพื่อให้ได้ความรู้และข้อคิดเห็นที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยปกติในแต่ละวันจะมีการบรรยายระหว่างเวลา ๐๘๐๐ - ๑๒๐๐ นอกจากการบรรยายดังกล่าวแล้ว วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาบรรยายพิเศษในประเด็นสำคัญ หรือเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งคุณสมบัติผู้บรรยายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และประสบการณ์ หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในกิจการนั้น ๆ จากส่วนราชการต่าง ๆ และหน่วยงานภาคเอกชน
การอ่านเอกสารประกอบ
เอกสารซึ่งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ เสนอให้อ่านเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีความเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ และเป็นการเตรียมการให้มี
ความพร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการถกแถลงเป็นคณะ และการแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการ ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในการเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคลด้วย
การศึกษาด้วยตนเอง
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ฯ จะจัดให้นักศึกษาทำการศึกษาด้วยตนเอง โดยกำหนดเรื่อง และ/หรือเอกสารให้นักศึกษาไปทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองล่วงหน้า และนำความรู้ความเข้าใจมาทำการถกแถลงระหว่างนักศึกษาด้วยกัน โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็นคณะ และมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาประจำคณะ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และความเข้าใจอย่างกว้างขวาง
ตามความมุ่งหมาย และขอบเขตวิชาในห้วงระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงการจัดเวลาสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง (เวลา วปอ.) เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นคว้าและจัดทำเอกสารวิจัยส่วนบุคคล
การถกแถลง
การถกแถลงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตามหัวข้อเรื่องที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ กำหนดหลังจากการฟังบรรยายข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ ในหัวข้อวิชาที่กำหนดแล้ว ในการถกแถลงนั้น เป็นการแยก
ถกแถลงโดยจัดนักศึกษาเป็นกลุ่ม นอกจากนักศึกษาจะนำความรู้จากการบรรยายมาใช้เป็นข้อมูลในการถกแถลงแล้ว ยังสามารถนำความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของนักศึกษามาประกอบในการ
ถกแถลง ผู้ที่เป็นประธานของคณะจะต้องชักนำให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาให้มากที่สุด
เมื่อเสร็จสิ้นการถกแถลงตามกลุ่มวิชาที่ ๒ แล้ว ทุกกลุ่มยุทธศาสตร์จะต้องนำเสนอผลการถกแถลงให้เพื่อนในกลุ่ม รวมทั้งอาจารย์ ฟังในห้องเรียน และจัดทำรายงานเป็นเอกสารส่งให้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ (กองวิชาที่รับผิดชอบ) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของนักศึกษาตามขั้นตอนต่อไป
การศึกษาเฉพาะกรณี
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถหลากหลาย การระดมสมองเพื่อศึกษาเฉพาะกรณี นอกจากจะเป็นการสร้าง
องค์ความรู้ใหม่ที่จะต้องนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ตามหลักสูตรการศึกษาแล้ว ยังเป็นข้อมูลสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดนโยบายเฉพาะในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์สำคัญ ที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้น ประเด็นในการศึกษาเฉพาะกรณีสามารถกำหนดขึ้นจากนักศึกษา หรือเป็นไปตามที่วิทยาลัยป้องกันราชาอาณาจักรฯ มอบหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อประเทศในแต่ละช่วงเวลา
การฝึกแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤตระดับชาติ
การฝึกจำลองสถานการณ์ เป็นการฝึกแก้ไขสถานการณ์วิกฤตในระดับชาติ โดยสมมุติให้ประเทศไทยเผชิญภัยจากการสงคราม โดยการแก้ไขจะยึดถือนโยบายยุทธศาสตร์ในระดับชาติที่มีอยู่ เพื่อให้ผู้รับการฝึก คือนักศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และคณาจารย์ ร่วมฝึกปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารประเทศในระดับชาติ ในเรื่องการวางแผน และอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ รวมถึงการประสานงานระหว่างกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง กระบวนการตัดสินใจระดับยุทธศาสตร์ โดยนำหลักการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานมาปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
การฝึกร่วมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพบก สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง และโรงเรียนเสนาธิการเหล่าทัพ
เป็นการฝึกขยายผลจากการฝึกจำลองสถานการณ์ระดับชาติ โดยใช้สถานการณ์การฝึกของวิทยาลัยเสนาธิการทหาร ทั้งนี้นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จะฝึกปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบทบาทของกองบัญชาการแห่งชาติ (National Command Authority) เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ระดับชาติสถานการณ์ภัยจากสงคราม ด้วยการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติทุกด้าน ไม่ใช่แค่การใช้กำลังทหาร
เพียงอย่างเดียว เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว นักศึกษาจะต้องทำรายงานผลการฝึก ประสบการณ์ที่ได้รับ รวมทั้งปัญหาข้อขัดข้อง ส่งให้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ ภายใน ๑ สัปดาห์ หลังเสร็จสิ้นการฝึก
การสัมมนาวิชาการ
เพื่อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยการอภิปรายอย่างเสรีภายในกลุ่ม อันจะนำไปสู่ข้อสรุปของแนวความคิดที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือการเสนอแนวทางปฏิบัติในเรื่องที่กำหนดให้ ในแต่ละปีการศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ จะกำหนดให้นักศึกษาทำการสัมมนาวิชาการไม่น้อยกว่า ๑ ครั้ง เรื่องที่สัมมนาจะกำหนดตามสถานการณ์และปัญหาสำคัญของชาติ หรือตามความประสงค์ของรัฐบาล หน่วยราชการ รวมทั้งเรื่องที่ผู้บังคับบัญชากำหนดให้ เมื่อกำหนดเรื่องที่จะสัมมนาได้แล้ว จะจัดแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อยเรียกว่าคณะสัมมนา แต่ละคณะจะมีวิทยากรหรืออาจารย์ที่ปรึกษาประจำอยู่เพื่อให้คำแนะนำหรือส่งเสริมให้การสัมมนาดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามแบบแผนและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ก่อนการสัมมนาแต่ละครั้ง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสัมมนาเป็นผู้บรรยายนำ หรือจัดให้มีการอภิปรายเป็นคณะ เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้พื้นฐานเท่าเทียมกัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาความคิดเห็นของตนเสนอต่อคณะสัมมนาได้อย่างมีเอกภาพมากขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นการสัมมนาแล้ว นักศึกษาจะต้องแถลงผลการสัมมนาหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนนักศึกษาในคณะอื่นทราบด้วย รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการสัมมนาเสนอต่อวิทยาลัยฯ ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อวิทยาลัยฯ จะได้นำเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
การแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการ
เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้จากหัวข้อวิชาต่าง ๆ ที่บรรยายในแต่ละวันในเรื่องพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ โดยจัดให้มีการแก้ปัญหาในรูปคณะกรรมการ นักศึกษาจะต้องวิเคราะห์และดำเนินการให้ได้ข้อยุติและ/หรือข้อเสนอแนะ ปัญหาที่กำหนด จะมีลักษณะเป็นปัญหาตามขั้นตอนไปสู่การพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และการกำหนดมาตรการเฉพาะ เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคง แห่งชาติ หรืออาจเป็นปัญหาปัจจุบันที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องพิจารณา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ จะได้จัดแบ่งนักศึกษาออกเป็นคณะ แต่ละคณะมีนักศึกษาที่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ เป็นกรรมการ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ จะได้จัดคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาและฝ่ายอำนวยการประจำทุกคณะ นักศึกษาที่เป็นประธานของแต่ละคณะจะทำหน้าที่อำนวยการและรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโดยตลอดวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จะมอบหมายให้คณะกรรมการแถลงผลการแก้ปัญหาต่อนักศึกษาทั้งหมดตาม วัน เวลาที่กำหนด โดยประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ของคณะเป็นผู้แถลง หรือประธานจะมอบหมายให้ผู้ใดในความรับผิดชอบการดำเนินการศึกษา
Division Responsible for Conducting Studies
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ กำหนดให้หน่วยขึ้นตรงซึ่งประกอบด้วย ๕ กองวิชาการ ๒ กองฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการศึกษา ในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๔ ดังนี้
กองยุทธศาสตร์และความมั่นคง ฯ - รับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๑ และกลุ่มวิชาที่ ๓
(กยศ.สวม.วปอ.สปท.) ประกอบด้วยหมวดวิชาที่ ๑ , ๒ และ ๑๒ รวมทั้งกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ
กองการเมืองและการทหาร ฯ - รับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๒ ในภาพรวม
(กมท.สวม.วปอ.สปท.) ประกอบด้วยหมวดวิชาที่ ๓ , ๔ และ ๗
- รับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๔ ในภาพรวม
ประกอบด้วยหมวดวิชาที่ ๑๓ และ ๑๔ รวมทั้งการฝึกแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤตระดับชาติ
กองการเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา ฯ - รับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๒
(กศส.สวม.วปอ.สปท.) ประกอบด้วยหมวดวิชาที่ ๕ และ ๖
กองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯ - รับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๒
(กวท.สวม.วปอ.สปท.) ประกอบด้วยหมวดวิชาที่ ๘ , ๙ , ๑๐ และ ๑๑
กองเอกสารวิจัยและห้องสมุด ฯ - รับผิดชอบเรื่องเอกสารวิจัยส่วนบุคคลและ (กอส.วปอ.สปท.) บทความวิชาการ
กองวิชาการทั้งหมด
- รับผิดชอบการสัมมนา การดูกิจการที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาการด้านต่าง ๆ และการแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการในสาขาวิชาการด้านที่เกี่ยวข้อง
กองพัฒนาการศึกษา ฯ - รับผิดชอบการดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศ (กพศ.วปอ.สปท.) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศโดยภาพรวม ทั้งหมด และการอำนวยการศึกษาทั่วไป
กองอำนวยการ ฯ - รับผิดชอบการสนับสนุนงานธุรการและการอำนวย
(กอก.วปอ.สปท.) ความสะดวกด้านการศึกษาทั่วไป
กพศ.ฯ อัพเดท ก.พ.65